เรียนภาษาญี่ปุ่น ออนไลน์ ฟรี กับครูพี่โฮม


เรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ "เปิดตำนานร้านอาหารญี่ปุ่น เก่าแก่สุดในกรุงเทพฯ" (ตอนที่ 1)

by : admin 21 ก.ค. 2563 view : 4009


ญี่ปุ่นออนไลน์  JapanOnline.org กับ "ครูพี่โฮม" เสนอตอน "เปิดตำนานร้านอาหารญี่ปุ่น เก่าแก่สุดในกรุงเทพฯ" (ตอนที่ 1)

ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เริ่มเปิดเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่มีคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าว่าอยู่ข้างโรงแรมเอราวัณ

ร้านเก่าแก่ที่สุดที่ยังเปิดบริการอยู่ คือ Hanaya ที่สี่พระยา ครูพี่โฮมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณ Watanuki Yoshio เชฟเจ้าของร้าน ผู้สืบทอดร้านมาหลายยุคหลายสมัย

แต่เดิม "ฮานาย่า" เป็นตึกแถวอยู่ติดถนนสี่พระยา เปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2481
ลูกค้าในช่วงแรก คือ ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อสี่พระยาเป็นศูนย์กลางของบริษัทญี่ปุ่น เช่น Mitsuibussan
"ฮานาย่า" ก็เต็มไปด้วยลูกค้าชาวญี่ปุ่น ส่วนลูกค้าคนไทยในช่วงแรกนั้นเป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่นครับ

วันนี้ exclusive สุด ๆ ครับ เป็นอีกหน้าของประวัติศาสตร์อาหารการกินในประเทศไทย ข้อมูลหลายอย่างไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน

(แปลจากภาษาญี่ปุ่น)

ครูพี่โฮม : สวัสดีครับ วันนี้เรามาเยี่ยมร้านฮานาย่า ร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ขอความกรุณาด้วยนะครับ คุณโยชิโอะเป็นทายาทรุ่นที่ 3 สินะครับ

คุณโยชิโอะ  : ใช่ครับ เป็นรุ่นที่ 3 ครับ

ครูพี่โฮม : วันก่อนได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย มีเขียนว่าร้านอาหารญี่ปุ่นร้านแรก ๆ คือ “ฮานาย่า”

คุณโยชิโอะ  : ใช่ครับ

ครูพี่โฮม : ปัจจุบันก่อตั้งมากี่ปีแล้วครับ

คุณโยชิโอะ  : ปัจจุบันก่อตั้งมาจะ 85 ปีแล้วครับ ก่อตั้งประมาณปี 1939 ครับ


ครูพี่โฮม : ทำไมมาเปิดร้านที่เมืองไทย ในกรุงเทพฯ ครับ

คุณโยชิโอะ  : ตอนแรกพี่ชายของคุณตาน่าจะเป็นคนเริ่มนะ คุณตาของผมเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยก่อนจากนั้นก็ทำต่อมาเรื่อย ๆ ครับ

ครูพี่โฮม : พอจะทราบแรงจูงใจมั้ยครับ

คุณโยชิโอะ  : ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นออกไปหาเงินข้างนอก ออกเดินทางไปต่างประเทศ หาเงิน เก็บสะสมเงินได้แล้วค่อยกลับญี่ปุ่น  นอกจากในเอเชียยังออกไปยังยุโรป อเมริกาเต็มไปหมด ตอนนี้กลายเป็นชาวญี่ปุ่นโพ้นทะเลรุ่นที่สอง รุ่นที่สามแล้วสินะครับ

ครูพี่โฮม : อย่างนี้นี่เอง แล้วที่มาของชื่อร้าน “ฮานาย่า” ล่ะครับ

คุณโยชิโอะ  : จำที่มาไม่ได้แน่ชัด แต่เหมือนว่าที่บ้านเกิดของคุณตาที่คะโกะชิมะมีเรียวกัง (โรงแรมญี่ปุ่น) ชื่อว่า “ฮานาย่า” อยู่ คิดว่าน่าจะเอาชื่อมาจากตรงนั้นล่ะมั้งครับ

ครูพี่โฮม : เป็นชื่อที่เพราะนะครับ

คุณโยชิโอะ  : (หัวเราะ) ขอบคุณครับ ถ้าลองเช็คดูในเน็ต ชื่อ “ฮานาย่า” จะออกมาเยอะพอสมควรเลย มีอยู่ทั่วโลกเลย นอกจากในกรุงเทพฯ ที่อื่น ๆ ในโลกก็มีร้านชื่อนี้

ครูพี่โฮม : บ้านเกิดของคุณวาตานุกิอยู่ที่ไหนครับ

คุณโยชิโอะ  : ตัวผมเกิดเมืองไทย แต่คุณตากับคุณยายเป็นคนจังหวัดคะโกะชิมะ ส่วนคุณพ่อเป็นคนจังหวัดนีงะตะ ส่วนคุณแม่ก็คะโกะชิมะครับ

ครูพี่โฮม : ถ้าพูดถึงคิวชู ก็จะนึกถึงทงคตสึราเม็งสินะ แล้วที่ร้านนี้มีอาหารท้องถิ่นอะไรมั้ยครับ

คุณโยชิโอะ  : (เปิดดูเมนู) คะโกะชิมะเนี่ยก็จะมี... Satsuma-Age ครับ เป็นของกินขึ้นชื่อของคะโกะชิมะ แล้วก็ส่วนใหญ่พวกการปรุงรส คิวชูก็จะเน้นรสชาติชัดเจน


ครูพี่โฮม : แล้วมีสูตรลับอะไรมั้ยครับ

คุณโยชิโอะ  : (หัวเราะ) นั่นสินะ ก็เอาเป็นว่าตั้งใจทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกคนได้ทานของอร่อย ๆ วัตถุดิบก็จะพยายามเลือกของดี ๆ จากท้องถิ่นนั้น ๆ เท่าที่จะทำได้
และเสิร์ฟความสดใหม่ให้ลูกค้าครับ

ครูพี่โฮม : ดีจังเลยครับ

คุณโยชิโอะ  : คิวชูรสชาติจะเข้ม ชัดเจน หวานก็คือหวาน เค็มก็เค็ม เข้ากับอาหารไทย

ครูพี่โฮม : ก็เลยจะถูกปากคนไทยสินะครับ

คุณโยชิโอะ  : ช่าย พอขึ้นไปทางเหนือ ๆ รสชาติก็จะอ่อนลงไป เกียวโตเป็นต้น จากประเด็นนี้ก็เลยคิดว่าเข้าได้ดีกับรสชาติของคนไทยนะ

ครูพี่โฮม : อย่างนี้นี่เอง แล้วลักษณะเด่นของร้านนี้คืออะไรครับ

คุณโยชิโอะ  : ลักษณะเด่นเหรอครับ ก็น่าจะเป็นเรื่องไม่แต่งหรู สไตล์คนทั่ว ๆ ไปสามารถเข้ามาได้อย่างสบายใจ เป็นร้านสำหรับครอบครัว



วันนี้พอหอมปากหอมคอ เพียงเท่านี้ คราวหน้ามาต่อกันเรื่อง "เมนูแนะนำ" นะครับ

ท่านที่สนใจไปรับประทานที่ "ฮานาย่า" ร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ ร้านอยู่ที่สี่พระยา ก่อนตัดกับถนนเจริญกรุง

หรือกดแผนที่ที่นี่ได้เลยครับ https://goo.gl/maps/dwbcKfWCXTHKzVx28

ติดตาม เรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ ติว N5 N4 N3 N2 N1 ติว PAT ญี่ปุ่น กับครูพี่โฮม เกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) อักษรฯ จุฬาฯ และเอ็ตจัง

และเรื่องราวดีๆ ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/JLPTOnline/

#ครูพี่โฮม ผู้นำการเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ LEARNSBUY ก่อตั้งโดย ZA-SHI
ติว N5 N4 N3 N2 N1 สอบวัดระดับ JLPT ภาษาญี่ปุ่นออนไลน์
ติว PAT ญี่ปุ่น 300 เต็ม ได้รับการยอมรับจากสื่อชั้นนำ เช่น GMM, DEK-D, TRUE, กระทรวงศึกษาธิการ

หนังสืออ้างอิง
ชมนาด สีติสาร และ วรวุฒิ จิราสมบัติ. (2548). 
วิวัฒนาการอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.